สงครามตีเมืองเชียงตุงครั้งที่สอง พ.ศ. 2395-2397 ของ สงครามเชียงตุง

สงครามตีเมืองเชียงตุงครั้งที่สอง พ.ศ. 2395-2397
ส่วนหนึ่งของ สงครามพม่า-สยาม
วันที่พฤศจิกายน พ.ศ. 2395 - พ.ศ. 2397
สถานที่รัฐเชียงตุง
ผลรัฐเชียงตุงเป็นฝ่ายชนะ สยามและล้านนาเข้าครอบครองเชียงตุงไม่สำเร็จ
คู่สงคราม
ราชวงศ์โก้นบอง (พม่า)
รัฐเชียงตุง
อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สยาม)
อาณาจักรล้านนา
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
พระเจ้าพุกามแมง
มหานอระธา
เจ้าฟ้ามหาขนานแห่งเชียงตุง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เจ้าพระยายมราช (นุช บุณยรัตพันธุ์)
พระยาเชียงใหม่มหาวงส์
พระยาอุปราชพิมพิสาร
พระยาบุรีรัตน์ (หนานสุริยวงศ์)
เจ้าพระยามงคลวรยศ
กำลัง
ไม่ทราบ10,000 คน

เหตุการณ์นำ

เมื่อสยามและล้านนาเข้ายึดเมืองเชียงตุงไม่สำเร็จในปีพ.ศ. 2393 จึงไม่สามารถช่วยเหลือกอบกู้เมืองเชียงรุ่งให้แก่เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรได้ ฝ่ายจีนยกทัพมาปราบเจ้าหน่อคำที่เมืองเชียงรุ่ง เจ้าหน่อคำหลบหนีไปถูกสังหารถึงแก่กรรมที่เมืองหุน เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรจึงได้กลับมาครองเมืองเชียงรุ่งอีกครั้ง เจ้านายไทลื้อที่ได้มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่กรุงเทพฯตั้งแต่พ.ศ. 2392 จึงกราบบังคมทูลลาฯกลับไปยังบ้านเมืองเดิมของตน เจ้ามหาไชยเมืองพงกลับไปอยู่เมืองน่าน อุปราชอรำมาวุทะ รวมทั้งมารดาคือนางปิ่นแก้วและน้องสาวคือนางแว่นแก้ว กลับไปอยู่เมืองหลวงพระบาง ในพ.ศ. 2395 เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรเจ้าแสนหวีฟ้าเมืองเชียงรุ่งให้นายพิศวง หรือพิศณุวงศ์ นำศุภอักษรและเครื่องบรรณาการต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานครอบครัวที่เมืองน่านและหลวงพระบางกลับคืนสู่เมืองเชียงรุ่งสิบสองปันนา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯมีพระราชดำริว่า เมืองน้อยมาพึ่งเมืองใหญ่ ควรต้องอนุเคราะห์ไปให้ตลอด ปัญหาประการคือเมืองลื้อนั้นขึ้นอยู่กับพม่าและจีนทั้งสองฝ่าย หากพม่าหรือจีนยกทัพเข้ามีตีเมืองเชียงรุ่ง เมืองเชียงรุ่งนั้นระยะทางห่างไกลจากกรุงเทพภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนทัพสยามจะขึ้นไปช่วยป้องกันได้ลำบาก[9] บรรดาเสนาบดีลงชื่อกราบทูลว่า เมืองน้อยมาพึ่งเมืองใหญ่ควรต้องเป็นธุระ พระเกียรติยศจึงจะแผ่ไปนานาประเทศ[9] ถ้าจะปกครองเมืองเชียงรุ่งต้องยึดเมืองเชียงตุงเสียก่อน ถ้ายึดเมืองเชียงตุงได้พม่าก็จะหมดอิทธิพลไปจากเชียงตุงเชียงรุ่ง จึงจะรักษาเมืองเชียงตุงเชียงรุ่งได้ ประกอบกับในเวลานั้น ทางฝ่ายพม่ากำลังติดพันกับสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่สอง พม่าคงจะไม่สามารถยกทัพมาช่วยเมืองเชียงตุงได้

การจัดเตรียมทัพ

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงเป็นองค์จอมทัพ ในสงครามตีเมืองเชียงตุง พ.ศ. 2395-2397

สงครามตีเมืองเชียงตุงครั้งนี้ ต่างจากสงครามตีเมืองเชียงตุงครั้งก่อนในพ.ศ. 2393 คือ ครั้งนี้ทางกรุงเทพฯจัดทัพเข้าตีเมืองเชียงตุงด้วยตนเองโดยตรง โดยได้รับการสนับสนุนจากหัวเมืองล้านนา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจึงมีพระราชโองการให้จัดทัพสยามจากกรุงเทพฯจำนวนทั้งสิ้น 10,000 คน ขึ้นไปโจมตีเมืองเชียงตุงดังนี้;[9][8]

  • พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เสด็จนำทัพหลวงประกอบด้วยทัพจากกรุงเทพ พิษณุโลก สุโขทัย พิชัย พิจิตร เพชรบูรณ์ วิเชียรบุรี หล่มสัก นครสวรรค์ ไปทางเมืองพิษณุโลก เมืองน่าน ให้อุปราชออลนาวุธและเจ้ามหาไชยเมืองพงไปในทัพนี้ด้วย
  • เจ้าพระยายมราช (นุช บุณยรัตพันธุ์) เป็นทัพหน้า ประกอบด้วยทัพจากกรุงเทพ สระบุรี ชัยนาท ตาก กำแพงเพชร สวรรคโลก ยกทัพไปทางกำแพงเพชร เมืองตาก นำทัพเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองลำปาง ยกทัพไปทางเมืองยอง

ทัพหน้าของเจ้าพระยายมราช (นุช) เดินทางออกจากกรุงเทพก่อนในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2395 จากนั้นกรมหลวงวงศาธิราชสนิทจึงเสด็จยกทัพหลวงออกจากกรุงเทพในเดือนธันวาคม ทั้งสองทัพมีกำหนดไปพบกันที่เมืองเชียงแสน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงมีท้องตราถึงพระยามหาวงส์เจ้าเมืองเชียงใหม่ พระยาไชยลังกาเจ้าเมืองลำพูน เจ้าพระยามงคลวรยศเจ้าเมืองน่าน และเจ้าสุกเสริมเมืองหลวงพระบาง ให้จัดเตรียมทัพและเสบียงอาหารช้างม้ายุทโธปกรณ์เข้าร่วมกับกรมหลวงวงศาธิราชสนิทและเจ้าพระยายมราช (นุช) ในการเข้าตีเมืองเชียงตุง[8]

ตีเมืองเชียงตุงครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2395

เจ้าพระยายมราช (นุช) ยกทัพทางเมืองกำแพงเพชร เมืองตาก เกณฑ์ทัพหัวเมืองตามรายทาง แล้วเดินทางยกทัพถึงเมืองเชียงใหม่ในเดือนมกราคมพ.ศ. 2396 ในเวลานั้นตรงกับฤดูเกี่ยวข้าว ทางฝ่ายเมืองเชียงใหม่ไม่มีข้าวไว้เลี้ยงกองทัพ พระยาเชียงใหม่มหาวงส์จึงขอข้าวจากเจ้าพระยายมราช เจ้าพระยายมราชแบ่งข้าวให้แก่ทัพเชียงใหม่[8] พระยาเชียงใหม่มหาวงส์แต่งนายน้อยเตชาและอ้ายพันไปสืบราชการลับที่เมืองนาย ได้ข่าวว่าที่เมืองนายพม่ากำลังเกณฑ์คนจัดเตรียมอาวุธไปช่วยป้องกันเมืองเชียงตุง แต่เจ้าฟ้ามหาขนานเมืองเชียงตุงให้หยุดระงับไว้ก่อน เนื่องจากเสบียงเมืองเชียงตุงมีไม่พอเลี้ยงกองทัพพม่า ฝ่ายเมืองเชียงตุงจะป้องกันเมืองด้วยตนเองไปก่อน เจ้าพระยายมราชพร้อมทั้งพระยาอุปราชพิมพิสาร พระยาราชบุตรเมืองเชียงใหม่ พระยาบุรีรัตน์ (หนานสุริยวงศ์) นายหนานสุริยวงศ์ นายหนานไชยเทพ นายน้อยมหาพรหม และนายอินทนนท์ ยกทัพจากเชียงใหม่ ไปทางเมืองเชียงรายถึงเมืองเชียงแสนในเดือนมีนาคม รอรับเสด็จกรมหลวงวงศาธิราชสนิทที่เมืองเชียงแสน

กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเสด็จยกทัพออกจากกรุงเทพฯในเดือนธันวาคมพ.ศ. 2395 เสด็จทางชัยนาท นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เมืองลับแล เมืองแพร่ และเสด็จถึงเมืองน่านในเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2396 จากนั้นเสด็จต่อไปทางเมืองปง เมืองสะเลา เมืองเทิง เมืองเชียงของ และถึงเมืองเชียงรายในเดือนมีนาคม ทัพของเจ้าพระยายมราชและทัพของเจ้าพระยามงคลวรยศเมืองน่านได้รออยู่ที่เชียงแสนแล้ว แต่ทัพฝ่ายเมืองเชียงใหม่และลำพูนยังมาไม่ถึง กรมหลวงวงศาธิราชทรงให้เจ้าพระยายมราชไปเร่งทัพ เมื่อทัพเมืองเชียงใหม่ไปประจำที่เชียงแสนแล้ว กรมหลวงวงศาธิราชสนิทจึงเสด็จไปยังเมืองเชียงแสน เมืองเชียงแสนในขณะนั้นเป็นเมืองร้าง ทรงมีพระบัญชาให้จัดทัพเข้าตีเมืองเชียงตุงใหม่ดังนี้;[8]

  • เจ้าพระยายมราช (นุช) พระยาสีหราชฤทธิไกร (สุด) พร้อมทั้งพระยาอุปราชพิมพิสาร พระยาราชบุตรเมืองเชียงใหม่ และพระยาบุรีรัตน์ (หนานสุริยวงศ์) ยกทัพฝ่ายเชียงใหม่จำนวนทั้งสิ้น 5,042 คน ไปทางเมืองพยาก (Mong Hpayak) เจ้าตีเมืองเชียงตุง
  • เจ้าพระยามงคลวรยศเมืองน่าน พร้อมทั้งเจ้ามหาไชยเมืองพง ยกทัพไปทางเมืองพงไปเมืองเชียงรุ้ง
  • พระยาพิมพิสารเมืองแพร่ ยกทัพเมืองแพร่ 1,200 คน เจ้าเมืองหล่มสักยกทัพ 1,300 คน เมืองลำปาง 1,000 คน ไปตีเมืองยอง

การรบที่เชียงตุง

เจ้าพระยายมราช (นุช) และพระยาสีหราชฤทธิไกร (สุด) ทัพเมืองเชียงใหม่และลำพูนไปทางด้านผาช้างไปถึงเมืองพยาก ตีเมืองพยากได้สำเร็จพญาไชยแสนและท้าวมหาวงษ์ผู้รักษาเมืองพยากหลบหนีไปเชียงตุง เจ้าพระยายมราชยกทัพต่อไปถึงเมืองเชียงตุงในเดือนเมษายน นำไปสู่การรบที่เชียงตุง เจ้าพระยายมราชและทัพเมืองเชียงใหม่ตั้งค่ายที่เนินเขาด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเชียงตุง ทัพเมืองลำพูนตั้งค่ายฝั่งเหนือ เจ้ามหาขนานเชียงตุงส่งทัพออกมารบ ฝ่ายเจ้าพระยายมราชและเชียงใหม่ประสบปัญหากำลังพลไม่เพียงพอไม่สามารถโอบล้อมเมืองเชียงตุงได้ทุกด้าน อีกทั้งเมืองเชียงตุงตั้งอยู่บนที่สูงทัพไทยอยู่ที่ต่ำ ยิงปืนใหญ่ไปไม่ถึงเมือง[8] กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเสด็จยกทัพจากเมืองเชียงแสนตามมาทางเมืองพยาก ถึงเมืองขอนกองกำลังเชียงตุงปลอมตัวโพกผ้าแดงเหมือนทหารเชียงใหม่[8] เข้าโจมตีทัพของกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงให้ไล่ยิงทหารเชียงตุงเหล่านั้นหนีไป

กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเสด็จยกทัพถึงเมืองเชียงตุง เข้าที่ประตูเมืองทัพเชียงตุงวกมาตีสกัดด้านหลัง[8] ทรงให้ระดมยิงปืนใหญ่ใส่เมืองเชียงตุง เมืองเชียงตุงยิงตอบโต้เป็นสามารถต้านทานทัพสยามและล้านนาไว้ได้ หลังจากการรบผ่านไปเจ็ดวัน กรมหลวงวงศาธิราชสนิทมีพระบัญชาให้ถอยทัพกลับไปที่เชียงแสน

เจ้ามงคลวรยศยกทัพถึงเมืองพงในเดือนเมษายน ส่งให้ชาวจีนชื่อลีชุงแยและพระยาหลวงพรหมขึ้นไปติดต่อเมืองเชียงรุ่ง พบกับเจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรเจ้าเมืองเชียงรุ่งและข้าหลวงจีน เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรมีความยินดีที่จะแต่งเครื่องบรรณาการมาถวายฯ ลีชุงแยบอกว่าให้เจ้าหม่อมสุชาวรรณราชบุตรลงไปพบกับเจ้ามงคลวรยศที่เมืองน่าน ฝ่ายข้าหลวงจีนถามลีชุงแยว่าทัพไทยยกมาครั้งนี้มีจุดประสงค์อะไร ลีชุงแยตอบว่าทัพไทยยกมาครั้งนี้ไม่ได้มาตีเมืองแต่มาจัดการปกครองให้เรียบร้อย[8]

กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงมีพระอักษรมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ขอพระราชทานกำลังเสริมจากเมืองนครราชสีมาและหัวเมืองลาวพุงขาวได้แก่หนองคาย สกลนคร และอุบลราชธานี ทรงโปรดฯไม่ประทานให้เนื่องจากหัวเมืองลาวล้านช้างนั้นคอยรับศึกทางอาจจะมาทางฝั่งเวียดนาม[8] และมีพระราชกระแสให้กรมหลวงวงศาธิราชเข้ายึดเมืองเชียงตุงให้โดยเร็ว เนื่องจากฝ่ายพม่ากำลังเสียทีพ่ายแพ้ให้แก่อังกฤษ หากอังกฤษเข้ายึดครองพม่าได้ทั้งหมดอังกฤษจะสามารถเข้าแทรกแซงเมืองเชียงตุงได้ ทำให้การยึดเมืองเชียงตุงยากขึ้นไปอีก[8]

สยามและล้านนาถอยทัพ

ทัพสยามและล้านนาเมื่อไม่สามารถตีหักเอาเมืองเชียงตุงได้จึงล่าถอยลงมา กรมหลวงวงศาธิราชเสด็จถอยทัพมาอยู่เมืองน่าน เจ้าพระยายมราช (นุช) พระยาสีหราชฤทธิไกร (สุด) ถอยทัพมาอยู่ที่เชียงใหม่ จากนั้นเจ้าพระยายมราชถึงเดินทางกลับไปอยู่ที่เมืองตาก ให้พระยาสีหราชฤทธิไกรคอยอยู่ที่เชียงใหม่ กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงถวายรายงานทัพฯตำหนิฝ่ายล้านนาว่าไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควรในการศึก สนใจเพียงแต่การกวาดต้อนผู้คนไปไว้ที่เมืองของตนเองเท่านั้น ไม่ได้วางแผนที่จะครอบครองเมืองเชียงตุงอย่างจริงจังและถาวร[8] และขอพระราชทานแม่ทัพที่มีความเข้มแข็งกว่าเจ้าพระยายมราชในการบัญชาการทัพ[8] ในเวลานั้นใกล้ฤดูฝนหากจะเตรียมทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงตุงอีกครั้งในปีนั้นจะติดฤดูฝน กรมหลวงวงศาธิราชสนิทจึงทรงขอพระราชทานยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงตุงอีกครั้งในฤดูแล้งปีถัดมา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯโปรดฯให้มีสารตรามาถึงท้าวพระยาฝ่ายล้านนา ทรงชี้ให้เห็นว่าฝ่ายสยามและล้านนายกไปตีเมืองเชียงตุงถึงสองครั้งแล้วไม่ประสบความสำเร็จ หากปล่อยไว้เช่นนี้ในอนาคตข้างหน้าเชียงตุงและพม่าอาจยกเข้ามาโจมตีหัวเมืองล้านนาได้[8] ขอให้ฝ่ายล้านนาให้ความร่วมมือแก่ฝ่ายสยามในการตีเมืองเชียงตุง ในเดือนกรกฎาคมพ.ศ. 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯโปรดฯให้พระยาสีหราชฤทธิไกรอัญเชิญสุพรรณบัฏขึ้นไปแต่งตั้งพระยาเชียงใหม่มหาวงส์เจ้าเมืองเชียงใหม่ ขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ พระนามว่า พระเจ้ามโหตรประเทศราชาธิบดี นพิสีมหานคราธิฐาน ภูบาลบพิตร สถิตในอุตมชิยางคราชวงศ์ เจ้านครเชียงใหม่

ตีเมืองเชียงตุงครั้งที่สอง พ.ศ. 2396

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จากกรุงเทพฯ นำอาวุธขึ้นไปให้ด้วย และเจ้าพระยายมราช (นุช) จากเมืองตาก ไปเข้าเฝ้ากรมหลวงวงศาธิราชสนิทที่เมืองอุตรดิตถ์ ปรึกษาข้อราชการทัพศึกเมืองเชียงตุง จากนั้นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงเดินทางกลับกรุงเทพ

ในฤดูแล้งพ.ศ. 2396 เมื่อสามารถเก็บเกี่ยวข้าวมาเป็นเสบียงได้แล้ว กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเสด็จยกทัพจากเมืองน่านและเจ้าพระยายมราชยกทัพจากเชียงใหม่ไปตีเมืองเชียงตุงอีกครั้ง ฝ่ายพม่าส่งแม่ทัพเมืองนายชื่อว่ามหานอระธา (Maha Nawratha) มาร่วมป้องกันเมืองเชียงตุง เมืองเชียงตุงมีกำลังมากกว่าครั้งก่อน กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงยกทัพเข้าประชิดเมืองเชียงตุงโจมตีจนสิ้นเสบียงอาหารและกระสุนดินดำ ไม่สามารถยึดเมืองเชียงตุงได้จึงถอยทัพกลับมาเมืองน่าน[9] ฝ่ายพม่าเห็นฝ่ายสยามถอยทัพกลับจึงยกทัพออกมาจากเชียงตุงมาโจมตีทัพของกรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระยามงคลวรยศเจ้าเมืองน่านจึงคอยระวังเป็นทัพหลังคุ้มกันให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเสด็จมาถึงเมืองน่านอย่างปลอดภัย ฝ่ายเจ้าพระยายมราชยกทัพไปได้ครึ่งทางทราบว่ากรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงถอยทัพแล้วจึงถอยทัพเช่นกัน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงมีพระวินิจฉัยว่า เมืองเชียงตุงอยู่ห่างไกล ภูมิประเทศเป็นภูเขาเดินทางขนส่งเสบียงและอาวุธลำบาก ทำสงครามต่อเนื่องยาวนานยังไม่สามารถยึดเมืองได้ ทำได้เพียงโจมตีแบบกองโจรเท่านั้น[9] อีกทั้งฝ่ายพม่าเริ่มส่งกองกำลังมาป้องกันเมืองเชียงตุงแล้ว จึงมีพระราชโองการมีท้องตราให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทและเจ้าพระยายมราชยกทัพกลับกรุงเทพฯ เจ้ามหาไชยเมืองพงเดินทางกลับไปยังเมืองพงแล้ว ส่วนเจ้าอุปราชออลนาวุธติดตามเสด็จกรมหลวงวงศาธิราชสนิทมาที่กรุงเทพด้วย

บทสรุป

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯมีพระดำริว่า อุปราชาอรำมาวุทะเมืองเชียงรุ่งมีความภักดีอย่างมาก จึงมีพระราชโองการให้พระยาราชวรานุกูลนำตัวอุปราชอรำมาวุทะกลับไปคืนแก่ครอบครัวที่เมืองหลวงพระบาง ฝ่ายจีนส่งข้าหลวงชื่อว่าตากุนแยมายังเมืองหลวงพระบาง ขอนำตัวอุปราชอรำมาวุทะ นางปิ่นแก้ว และนางแว่นแก้วกลับไปเมืองเชียงรุ่ง เจ้าสุกเสริมจึงมีใบบอกลงมาที่กรุงเทพฯ ระหว่างที่ตากุนแยเฝ้ารอคำตอบจากกรุงเทพฯนั้น ก็ได้นางสุนทรีน้องสาวของอุปราชาอรำมาวุทะเป็นภรรยา[9] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯมีพระบรมราชานุญาตให้อุปราชาอรำมาวุทะ นางปิ่นแก้ว และนางแว่นแก้วกลับไปอยู่ที่เมืองเชียงรุ้ง ต่อมาที่เมืองเชียงรุ่งเกิดความขัดแย้งขึ้นอีก เจ้ามหาไชยเมืองพงสังหารอุปราชอรำมาวุทะถึงแก่กรรม เจ้าสุชาวรรณราชบุตรเจ้าเมืองเชียงรุ่งจึงให้ประหารชีวิตเจ้ามหาไชยเมืองพง เมื่อฝ่ายสยามไม่สามารถยึดเชียงรุ่งได้ และฝ่ายพม่าถูกอังกฤษเข้ายึดครอง เมืองเชียงรุ่งสิบสองปันนาจึงเป็นส่วนหนึ่งของจีนในที่สุด